ด้านการศึกษา
ในด้านการศึกษา ทรงริเริ่มสร้างโรงเรียนขึ้นแทนวัดประจำรัชกาล ได้แก่ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ซึ่งในปัจจุบันคือโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ทั้งยังทรงสนับสนุนกิจการของโรงเรียนราชวิทยาลัยซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. 2440 (ปัจจุบันคือโรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์)
- จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะ โรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ขึ้นเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย
- ทรงตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา ปีพ.ศ. ๒๔๖๔ ให้บิดามารดาส่งบุตรเข้าโรงเรียนโดยไม่เสียค่าเล่าเรียน
- โปรดเกล้าให้จัดตั้งสถาบันการศึกษาหนึ่งและพระราชทานนามว่า โรงเรียนเพาะช่าง
ในวันที่ ๗ มกราคม ๒๔๕๖ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนเพาะช่างด้วยพระองค์เองด้วยจุดเริ่มต้นนี้ทำให้ประเทศไทยยังมีช่างฝีมือทางศิลปกรรมไทยไว้สืบทอดและสร้างสรรค์สิ่งดีงามจนถึงปัจจุบัน
การเปิดโรงเรียนในเมืองเหนือ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศสยามมกุฎราชกุมารได้เสด็จพระราชทานนามโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2449 ซึ่งไม่เป็นเพียงแต่การนำรูปแบบการศึกษาตะวันตกมายังหัวเมืองเหนือเท่านั้น แต่ยังแฝงนัยการเมืองระหว่างประเทศเอาไว้ด้วย เห็นได้จากการเสด็จประพาสมณฑลพายัพทั้งสองครั้งระหว่าง พ.ศ. 2448-2450 พระองค์ได้ทรงสนพระทัยในกิจการโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ทั้งสิ้น โดยพระองค์ทรงบันทึกไว้ในพระราชนิพนธ์ "เที่ยวเมืองพระร่วง" และ "ลิลิตพายัพ" ทั้งนี้ เป้าหมายของการจัดการศึกษายังแฝงประโยชน์ทางการเมืองที่จะให้ชาวท้องถิ่นกลมเกลียวกับไทยอีกด้วย
ด้านการเศรษฐกิจ
- จัดตั้งธนาคารออมสินขึ้น เพื่อให้ประชาชนรู้จักออมทรัพย์ และเชื่อมั่นในสถาบันการเงิน เนื่องจากมีธนาคารพาณิชย์เอกชนที่ฉ้อโกง และต้องล้มละลายปิดกิจการ ทำให้ผู้ฝากเงินได้รับความเสียหายอยู่เสมอ
- ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อหุ้นของ ธนาคารสยามกัมมาจล ทุนจำกัด(ปัจจุบันคือ ธนาคารไทยพาณิชย์) ซึ่งมีปัญหาการเงิน ทำให้ธนาคารของคนไทยแห่งนี้ดำรงอยู่มาได้
- ทรงริเริ่มตั้ง บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัดซึ่งได้เป็นกิจการอุตสาหกรรมสำคัญของไทยต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน
- ทรงจัดตั้งสภาเผยแผ่พาณิชย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานคล้ายกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจในปัจจุบัน
- โปรดเกล้าฯ ให้จัดเตรียมแสดงสินค้าไทย คืองานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ที่สวนลุมพินี แต่งานต้องเลิกล้มไปเพราะสวรรคตเสียก่อน
ด้านการคมนาคม
- ทรงปรับปรุงและขยายงานกิจการรถไฟ ให้รวมกรมรถไฟซึ่งเคยแยกเป็น ๒ กรมเข้าเป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า กรมรถไฟหลวง เริ่มเปิดกิจการเดินรถไฟสายกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ ทรงเปิดเดินรถด่วนระหว่างประเทศ สายใต้ติดต่อกับรถไฟมลายู (มาเลเซีย)
- ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานพระราม ๖ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมทางรถไฟทั้งปวงในพระราชอาณาจักรโดยโยงเข้ามาสู่ศูนย์กลางที่สถานีหัวลำโพง
- ทรงจัดตั้งกรมอากาศยาน ได้เริ่มการขนส่งไปรษณียภัณฑ์ทางอากาศระหว่างกรุงเทพฯ ไปยังนครราชสีมาเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓
ด้านจิตรกรรม
ทรงส่งเสริมการวาดภาพฝาผนัง เช่น ทรงให้ทดลองเขียนภาพเทพชุ-มนุมในห้องพระเจ้า ณ พระที่นั่งพิมานในพระราชวังสนามจันทน์ ก่อนที่จะนำไปวาดที่ฝาผนังพระวิหารทิศ วัดพระปฐมเจดีย์ ทั้งยังทรงพระกรุณาให้หาผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศด้านจิตรกรรมและประติมากรรม คือ PROF.C.FEROCI หรือท่านศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรีเข้าเฝ้า เพื่อส่งเสริมให้ศิลปินไทยได้เรียนรู้ศิลปะสากลขึ้น อันส่งผลต่อการพัฒนาแนวคิดสร้างสรรค์ทางด้านศิลปะไทยส่วนพระองค์สนพระทัยในการวาดภาพล้อ ทรงวาดภาพล้อไว้หลายชุด แล้วส่งไปพิมพ์ในหนังสือดุสิตสมิต ภาพล้อเหล่านี้ถ้าเป็นภาพล้อผู้ใด ผู้นั้นก็จะซื้อในราคาสูง เงินค่าภาพล้อจะพระราชานไปใช้ในกิจการกุศลทั้งสิ้น
ด้านศิลปวัฒนธรรมไทย
- ทรงตั้งกรมมหรสพขึ้น เพื่อฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทย
- ทรงตั้งโรงละครหลวงขึ้นเพื่อส่งเสริมการแสดงละครในหมู่ข้าราชบริพาร
- ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกแบบอาคารสมัยใหม่เป็นแบบทรงไทย เช่น ตึกอักษรศาสตร์ ซึ่งเป็นอาคารเรียนหลังแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาคารโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
ด้านการต่างประเทศ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศสงครามกับประเทศฝ่ายเยอรมัน ในสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วยประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซียเป็นผู้นำ พร้อมทั้งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งทหารไทยอาสาสมัครไปร่วมรบในสมรภูมิยุโรปด้วย ผลของสงครามประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรได้ชัยชนะ ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสเจรจากับประเทศมหาอำนาจหลายประเทศ ในการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เช่น สนธิสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต สนธิสัญญาจำกัดอำนาจการเก็บภาษีของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สนธิสัญญาจำกัดอำนาจกลางประเทศไทย
ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข
- ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และวชิรพยาบาล เพื่อรักษาพยาบาลประชาชนที่เจ็บไข้ได้ป่วย
- ทรงเปิดสถานเสาวภา เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ เพื่อผลิตวัคซีนและเซรุ่ม เป็นประโยชน์ทั้งแก่ประชาชนชาวไทยและประเทศใกล้เคียงอีกด้วย
- ทรงเปิดการประปากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๗
ด้านกิจการเสือป่าและลูกเสือ
ทรงจัดตั้งกองเสือป่าเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 และทรงจัดตั้งกองลูกเสือกองแรกขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (วชิราวุธวิทยาลัย ในปัจจุบัน) ด้านการฝึกสอนระบอบประชาธิปไตย ทรงทดลองตั้ง "เมืองมัง" หลังพระตำหนักจิตรลดาเดิม ทรงจัดให้เมืองมัง มีระบอบการปกครองของตนเองตามวิถีทางประชาธิปไตย รวมถึงเมืองจำลอง "ดุสิตธานี" ในพระราชวังดุสิต (ต่อมาทรงย้ายไปที่พระราชวังพญาไท)
ด้านวรรณกรรมและหนังสือพิมพ์
ทรงส่งเสริมให้มีการแต่งหนังสือ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติวรรณคดีสโมสร สำหรับในด้านงานหนังสือพิมพ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติสมุด เอกสาร พ.ศ. 2465 ขึ้น
ด้านส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย
- ทรงส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อมวลชนที่สำคัญ ในยุคนั้นคือหนังสือพิมพ์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามีเสรีภาพสูงยิ่งกว่าสมัยหลัง พ.ศ. ๒๔๗๕
- ทรงทดลองและฝึกให้ข้าราชบริพารรู้จักการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยทรงสร้างเมืองจำลอง "ดุสิตธานี" ขึ้น เป็นเมืองที่มีพรรคการเมือง,การเลือกตั้ง, และการบริหารตามระบอบประชาธิปไตย
กบฎ ร.ศ. 130
ในปี พ.ศ. 2454 เกิดเหตุการณ์กบฏ ชื่อว่า กบฎ ร.ศ. 130 ในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกูฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงซ้อมรบกับกองทหารเสือป่าที่ จ.นครปฐม กบฏคณะนี้เป็นนายทหารชั้นผู้น้อยประมาณ 100 คน โดยมีจุดประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ความลับรั่วไหลถึงสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ จึงได้ดำเนินการจับกุมไว้ได้ และได้ตั้งศาลพิเศษพิจารณาคดีนี้ ผลของการตัดสินคดี คือ สั่งลงโทษประหารชีวิตนายทหารที่เป็นหัวหน้าก่อการกบฎ 3 นาย จำคุกตลอดชีวิต 20 นาย จำคุก 20 ปี 32 นาย ส่วนที่เหลือให้จำคุก 15 ปี และ 12 ปี ลดหลั่นกันไป
เมื่อตัดสินพิจารณาคดีเสร็จสิ้นลง จึงได้นำความตัดสิน ขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานความเห็นชอบตามที่เสนอทูลเกล้าฯ ถวายไปในตอนแรก เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับทราบ จึงมีพระราชปรารภ ความว่า
“เราไม่ได้มีจิตพยาบาทคาดร้ายแก่พวกนี้ เห็นควรลดหย่อนผ่อนโทษโดยฐานกรุณา ซึ่งเป็นอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินที่จะยกให้ได้”
ด้วยพระราชดำรัสดังนี้ ผู้ก่อการกบฎจึงได้รับการผ่อนโทษ ทำให้ไม่มีผู้ใดต้องโทษประหารชีวิตและในที่สุดทุกคนก็พ้นโทษจำคุกออกมา ในการที่ผู้ก่อการกบฏได้รับพระราชทานลดโทษนั้น ได้มีผู้ก่อการกบฎท่านหนึ่งได้เขียนไว้ว่า
“พระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพวกเรา ซึ่งนับว่าเป้นครั้งที่สำคัญอย่างยิ่งล้นก็คือ ได้พระราชทานชีวิตพวกเราไว้จากคำพิพากษาของกรรมการศาลทหาร โดยเรามิแน่ใจนักว่า หากมิใช่พระราชาพระองค์นี้ทรงเป็นประมุขแล้ว พวกเราจะได้พ้นจากการประหารชีวิตหรือไม่”
ด้วยเหตุการณ์ดังที่กล่าวมานั้น เป็นสิ่งที่ยืนยันได้อย่างแน่ชัดที่สุดว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีน้ำพระทัยที่ผู้เป็นใหญ่ควรจะมี คือ ทศพิธราชธรรม
ด้านวรรณกรรม
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีจำนวนนับพันและมีทุกประเภทวรรณศิลป์ ได้แก่ โขน ละคร นวนิยาย พระราชดำรัส พระบรมราโชวาท พระบรมราชานุศาสนีย์ฯ เทศนานิทานบทชวนหัว สารคดี บทความในหนังสือพิมพ์และร้อยกรอง นอกจากนี้ยังทรงพระราชนิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษไว้หลายเรื่อง
พระนามแฝงที่ทรงใช้มีอยู่มากมายกว่า 100 นาม เป็นต้นว่า
อัศวพาหุ สำหรับบทความที่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง
รามจิตต สำหรับงานพระราชนิพนธ์แปล
พระขรรค์เพชร สำหรับงานพระราชนิพนธ์บทละคร (ก่อนเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ)
ศรีอยุธยา สำหรับงานพระราชนิพนธ์ประเภทบทละคร (หลังเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ)
พันแหลม สำหรับพระราชนิพนธ์ เรื่องที่เกี่ยวกับทหารเรือ
นายแก้วนายขวัญ สำหรับพระราชนิพนธ์ ชุด นิทานนายทองอิน
นายราม ณ กรุงเทพฯ สำหรับทรงใช้ในฐานะทวยนาครแห่งดุสิตธานี
พระรามราชมุนี สำหรับตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดธรรมาธิปไตย ในดุสิตธานี
GENERAL MICHAEL D’ AYUTHYA สำหรับตำแหน่งประธานาธิบดีสาธารณรัฐใหม่ ที่ทรงทดลองอยู่
BROTHER CARLTON สำหรับลายพระราชหัตถเลขาถึงพระสหายในสหรัฐอเมริกา
นอกจากนามแฝงสำหรับพระองค์เอง พระองค์ยังพระราชทานนามแฝงให้กับบุคคลอื่นอีก เช่นนามเข็ม หมกเจ้า ประติสมิต ประเสริฐ ชาญคำนวณ หูผึ่งและโปรเฟซเซอร์ เป็นต้น พระราชนิพนธ์แต่ละเล่มของพระองค์ท่านนอกจากจะให้สาระและความเพลิดเพลินแล้วยังเต็มไปด้วยสุภาษิต ข้อคิดและคำคม เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน รัชสมัยของพระองค์นับเป็นการฟื้นฟูวรรณกรรมทุกประเภทของไทย
งานทางด้านหนังสือพิมพ์ ทรงพระราชนิพนธ์บทความสำคัญ ๆ ลงในหนังสือพิมพ์เช่น “ยิวแห่งบูรพทิศ” ในหนังสือพิมพ์สยามออบเซอร์เวอร์ และ “โคลนติดล้อ” ในหนังสือพิมพ์ไทย จนถึงมีผู้เขียนโต้ตอบให้ชื่อว่า “ล้อติดโคลน” ลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯเดลิเมล์ ก็มิได้ทรงพระพิโรธแต่ประการใด แต่นายทหารผู้บังคับบัญชาเกรงว่า การที่นายทหารเรือผู้หนึ่งเขียนโต้แย้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเสนอขอย้ายนายทหารเรือท่านนั้นเสีย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมิได้ขัดข้องที่จะให้ย้ายตามที่เสนอไป และยังทรงพระราชทานสายสะพายปฐมาภรณ์มงกุฎสยาม เป็นของขวัญที่นายทหารเรือท่านนั้นกล้าโต้แย้งพระองค์ นับว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงใช้หนังสือพิมพ์เป็นสื่อทั้งในด้านข่าวาร แสดงความคิดเห็นและปลุกใจให้รักชาติ
สิ่งสำคัญที่ทรงริเริ่ม
พ.ศ. 2455 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ “พุทธศักราช” เป็นศักราชในราชการ เพราะทรงมีพระราชดำริว่าการใช้รัตนโกสินทร์ศกไม่สะดวกสำหรับเหตุการณ์ในอดีตก่อนตั้งศักราช
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ประกาศนับเวลาในราชการ โดยทรงกำหนดให้เปลี่ยนวิธีนับเวลาแบบโมงยามมาเป็นนับแบบสากลนิยม คือ แบ่งวันหนึ่งเป็น 24 ภาค แต่ละภาคเรียกว่า นาฬิกา และให้ถือว่าเที่ยงคืนเป็นเวลาเปลี่ยนวันใหม่ 1 เมษายน พ.ศ. 2463 ทรงให้ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ใช้เวลาอัตราสำหรับประเทศไทยทั่วพระราชอาณาจักรเป็น 7 ชั่วโมง ก่อนเวลาที่กรีนิช ประเทศอังกฤษ
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาคำนำหน้านาม พุทธศักราช 2460 กำหนดให้ใช้คำนำหน้านามเด็กและสตรีให้เป็นระเบียบอย่างอารยประเทศ คือ ให้มีคำว่า เด็กชาย เด็กหญิง นาย นาง และนางสาว
ในปี พ.ศ. 2456 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ใช้นามสกุล และได้ทรงพระราชทานนามสกุลถึง 6,432 สกุล นามสกุลแรกที่ทรงพระราชทาน คือ สุขุม พระราชทานเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2456
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบัญญัติศัพท์แทนคำภาษาอังกฤษที่ใช้กันอยู่ในสมัยนั้น เช่นตำรวจ ธนาคาร โทรเลข โทรศัพท์ บริษัท ราชนาวี จักรยาน บริการ วิทยุ อนุบาล เครื่องบิน ลูกเสือ สหกรณ์ เลขานุการ ห้องสมุด เป็นต้น
รวมถึงชื่อถนนหนทางต่าง ๆ ที่มีชื่อเป็นภาษาต่างประเทศ ทรงพระกรุณาเปลี่ยนชื่อใหม่ เช่น
ถนนช้างฮี้นอก 1 ซางฮี้ใน 1 ซางฮี้น่า 1 สามถนนนี้ตั้งแต่ลำน้ำเจ้าพระยาถึงถนนราชปรารภเปลี่นชื่อเป็นถนนราชวิถี
ถนนดวงตวันนอก 1 ดวงตวันใน 1 ดวงตวันน่า สามถนนี้ตั้งแต่ลำน้ำเจ้าพระยาถึงพนนราชปรารภ เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนศรีอยุธยา
ถนนเบญจมาศนอก ตั้งแต่สะพานมัฆวาฬรังสรรค์ ถึงถนนพระลาน เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนราชดำเนินนอก
ถนนประทัดทอง ตลอดทั้งสาย เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนพระรามที่ 6
ถนนหัวลำโพงนอก ตั้งแต่ถนนเจริญกรุงถึงถนนหลวงสุนทรโกษา เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนพระราม 4
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างธงชาติขึ้นมาใหม่แทนธงช้าง ด้วยเหตุที่ทรงทอดพระเนตรเห็นผู้ชักธงกลับหัวช้าลงเป็นที่ไม่เหมาะสม จึงได้ทรงออกแบบธงใหม่ให้เป็นธง 3 สี ได้แก่ แดง ขาว น้ำเงิน มีความหมายแทนสถาบันสูงสุด 3 สถาบัน คือ ชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ พระราชทานนามว่า “ธงไตรรงค์” และได้ทรงพระราชนิพนธ์ความหมายเกี่ยวกับธงไว้ดังนี้
ขอร่ำรำพันบรรยาย ความคิดเครื่องหมาย
แห่งสีทั้งสมงามถนัด
ขาวคือบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์ หมายพระไตรรัตน์
และธรรมะคุ้มจิตใจไทย
แดงคือโลหิตเราไซร้ ซึ่งยอมสละได้
เพื่อรักษาชาติศาสนา
น้ำเงินคือสีโสภา อันจอมราชา
ธ โปรดเป็นของส่วนพระองค์
จัดริ้วเข้าเป็นไตรรงค์ จึ่งเป็นสีธง
ที่รักแห่งเราชาวไทย
ทหารอวตารนำไป ยงยุทธ์วิชัย
วิชิตก็ชูเกียรติสยามฯ
ทรงมีพระราชดำรัสว่า “ชาติใดไม่มีหนังสือ ไม่มีตำนาน นับว่าเป็นเหมือนคนป่า” ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าออยู่จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ เปิดหอสมุดสำหรับพระนคร พ.ศ. 2459 หอสมุดพระนครนี้ได้พัฒนาให้เป็น หอสมุดแห่งชาติในปัจจุบัน
พ.ศ. 2466 ทรงให้ตราพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ให้คนไทยมีวิธีชั่ง ตวง วัด เป็นแบบเดียวกันทั่วประเทศ และทรงกำหนดให้ใช้ระบบเมตริกแบบอารยประเทศตะวันตก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น