วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พระราชประวัติ รัชกาลที่ 6





                  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติเมื่อวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม ปีจอ พุทธศักราช 2453 และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 รวมพระชนมพรรษา 45 พรรษา เสด็จดำรงราชสมบัติรวม 15 ปี

                 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชอัจฉริยภาพและทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในหลายสาขา ทั้งด้านการเมืองการปกครอง การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข การต่างประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือด้านวรรณกรรมและอักษรศาสตร์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทร้อยแก้วและร้อยกรองไว้นับพันเรื่อง กระทั่งทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาเมื่อเสด็จสวรรคตแล้วว่า "สมเด็จพระมหาธีราชเจ้า" พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ใน พระราชวงศ์จักรีพระองค์แรกที่ไม่มีวัดประจำรัชกาล แต่ได้ทรงมีการการสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน ขึ้นแทน ด้วยทรงพระราชดำริว่าพระอารามนั้นมีมากแล้ว และการสร้างอารามในสมัยก่อนนั้นก็เพื่อบำรุงการศึกษาของเยาวชนของชาติ จึงทรงพระราชดำริให้สร้างโรงเรียนขึ้นแทน



                    พระบรมราชานุสาวรีย์แห่งแรกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างแล้วเสร็จเมื่อพ.ศ. 2485 ประดิษฐาน ณ สวนลุมพินี ซึ่งเป็นบริเวณที่ดินส่วนพระองค์ ที่พระราชทานไว้เป็นสมบัติของประชาชน เพื่อจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์แสดงสินค้าไทยแก่ชาวโลกเป็นครั้งแรก เพื่อบำรุงเศรษฐกิจและพาณิชยกรรมของประเทศ (แต่มิทันได้จัดก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน) และทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าเมื่อเสร็จงานแล้ว จะพระราชทานเป็นสวนสาธารณะพักผ่อนหย่อนใจแห่งแรกในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ ในวันคล้ายวันสวรรคตของทุกปี วันที่ 25 พฤศจิกายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือผู้แทนพระองค์ จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลา ถวายบังคมพระบรมราชานุสรณ์ ณ สวนลุมพินีแห่งนี้ ในวันนั้นมีหน่วยราชการ หน่วยงานเอกชน นิสิตนักศึกษา พ่อค้าประชาชนจำนวนมากไปวางพวงมาลาถวายราชสักการะ และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย ณ วชิราวุธวิทยาลัย

                 ใน พ.ศ. 2524 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ยกย่องพระเกียรติคุณของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม ในฐานะที่ทรงเป็นนักปราชญ์ นักประพันธ์ กวี และนักแต่งบทละครไว้เป็นจำนวนมาก


พระนามเต็ม

                  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเต็มว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช พินิตประชานาถมหาสมมตวงศ์ อดิศัยพงศ์วิมลรัตน์วรขัตติราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณีจักรีบรมนาถ จุฬาลงกรณราชวรางกูร บรมมกุฏนเรนทร์สูรสันตติวงศวิสิฐ สุสาธิตบุรพาธิการ อดุลยกฤษฎาภินิหาร อดิเรกบุญฤทธิ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดม บรมสุขุมาลย์ทิพยเทพาวตาร ไพศาลเกียรติคุณ อดุลยวิเศษสรรพเทเวศรานุรักษ์ บุริมศักดิสมญาเทพวาราวดี ศรีมหาบุรุษสุทธสมบัติ เสนางคนิกรรัตนอัศวโกศล ประพนธปรีชา มัทวสมาจาร บริบูรณคุณสารสยามาทินคร วรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต์มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษศิรินธร บรมชนกาดิศรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษฏาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวศรัยพุทธาธิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์ อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณา สีตลหฤทัย อโนมัยบุญการสกลไพศาล มหารัษฎาธิบดินทร์ ปรเมนทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว"
ต่อมาใน พ.ศ. 2459 ได้ทรงเปลี่ยนคำนำหน้าพระปรมาภิไธยของพระองค์เองใหม่ว่า "พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ อรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช พินิตประชานาถมหาสมมตวงศ์ ฯลฯ         พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว"


พระราชประวัติ
<< ชมวิดีโอพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจที่สมบูรณ์ที่สุดได้จากเมนูด้านซ้ายมือครับ



พระราชสมภพ
   ระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ 2 ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง(สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี)พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พุทธศักราช 2423 ร.ศ. 99 เมื่อเวลา 08.55 นาฬิกา ทรงได้รับพระราชทานพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราวุธ” เมื่อพระชนมายุได้ 8 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2431 ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี ปรากฏพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เอกอัครมหาบุรุษบรมนราธิราช จุฬาลงกรณนาถราชวโรรส มหาสมมตขัตติยพิสุทธิ์ บรมมกุฎสุริยสันตติวงศ์ อดิสัยพงศ์วโรภโตสุชาติ คุณสังกาศวิมลรัตน์ ทฤฆชนมสวัสดิขัตติยราชกุมาร” ทรงมีพระเกียรติยศเป็นชั้นที่ 2 รองจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีสมเด็จพระพี่นางเธอ          สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอและสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ร่วมสมเด็จพระบรมราชชนก สมเด็จพระบรมราชชนนี ดังนี้
                   1.   สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพาหุรัดมณีชัย กรมพระเทพนารีรัตน์
                   2.  สมเด็จเจ้าฟ้าชายมหาวชิราวุธ(รัชกาลที่ 6)
                   3.  สมเด็จเจ้าฟ้าชายตรีเพ็ชรรุตม์ธำรง
                   4.  สมเด็จเจ้าฟ้าชายจักรพงศ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
                   5.  สมเด็จเจ้าฟ้าชายสิริราชกกุธภัณฑ์
                   6.  สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง (สิ้นพระชนม์วันที่ประสูติ)
                   7.  สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย
                   8.  สมเด็จเจ้าฟ้าชายประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา (รัชกาลที่ 7)


การศึกษา

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะทรงพระเยาว์ได้ทรงศึกษาในพระบรมมหาราชวัง พระอาจารย์ภาษาไทย คือ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) พระยาอิศรพันธุ์โสภณ (ม.ร.ว. หนู อิศรางกูร) และหม่อมเจ้าประภากรในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์
        


                    สำหรับภาษาอังกฤษทรงศึกษาจากครูชาวอังกฤษชื่อ โรเบิร์ต มอแรนต์ (Robert Morant) ซึ่งพระองค์ทรงให้ความสนพระทัยและทรงพระปรีชาสามารถแปลอุปรากร เรื่อง “มิกาโด” ซึ่งเป็นบทประพันธ์ระดับวรรณกรรมโลกของวิลเลียม กิลเบิร์ต เมื่อทรงพระชนมายุได้ 10 พรรษา เสด็จเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนราชกุมาร ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพระบรมมหาราชวังนั่นเอง
          ภายหลังพระราชพิธีโสกันต์ (โกนจุก) ในเดือนธันวาคม ปีพุทธศักราช 2435 แล้ว ในปีต่อมาทรงพระชนมายุได้เพียง 12 พรรษาเศษ ได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ ที่จะทรงส่งพระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์ไปทรงศึกษาวิชาการในสาขาต่างๆ ณ ทวีปยุโรปเพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาประเทศให้เจริญทัดเทียมกับนานาอารยประเทศต่อไป จึงนับได้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ มีผู้โดยเสด็จฯ คือ
     1.  พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์)
     2.  พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์)
     3.  หม่อมราชวงศ์สิทธิ สุทัศน์ (นายพลโท พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร)
     4.  พระมนตรีพจนกิจ (เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี นามเดิม หม่อมราชวงศ์ เปีย มาลากุล)
     ซึ่งทำหน้าที่เป็นพระอภิบาล และถวายอักษรเมื่อเสด็จถึงประเทศอังกฤษ ทรงรับการอบรมความรู้เบื้องต้นจากเซอร์เบซิล ทอมสัน (Sir Basil Thomson) ณ เมืองแอสคอต (Ascot) ในระหว่างประทับอยู่ที่แอสคอตนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สวรรคตเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2437
     พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารแทน
     เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ 2439 ทรงย้ายไปประทับที่บ้านใหม่ชื่อ เกรตนี่ (Graitney) ตำบลแคมเบอร์ลีย์ (Camberley) ใกล้ออลเดอร์ชอต (Aldershot) โดยมีนายพันโท ซี วี ฮูม (C.V. Hume) เป็นผู้ถวายการสอนวิชาทหาร ส่วนวิชาการพลเรือนมีนายโอลิเวียร์ ( Olivier) ชาวอังกฤษเป็นผู้ถวายการสอน และนายบูวิเยร์ (Bouvier) ชาวสวิส เป็นผู้ถวายการสอนภาษาฝรั่งเศส
ต่อมาในปีพุทธศักราช 2440 ทรงเข้าศึกษาวิชาการทหารบกที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนด์เฮิสต์  (Royal Military, Sandhurst) เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาแล้ว ก็ทรงเข้ารับราชการทหารในกรมทหารราบเบาเดอรัม (Derham Light Infantry) ที่นอร์ธ แคมป์ (North Camp) ณ ออลเดอร์ชอต และเสด็จไปประจำหน่วยภูเขาที่ 6 ค่ายฝึกทหารปืนใหญ่ที่โอคแฮมป์ตัน (Okehampton) ต่อมาอีกเดือนหนึ่งเสด็จไปทรงศึกษาที่โรงเรียนปืนเล็กยาวที่เมืองไฮยท์ (School of Musketry of Hythe) ทรงได้รับประกาศนียบัตรพิเศษและเหรียญแม่นปืน หลังจากนั้นทรงเข้าศึกษาวิชาประวัติศาสตร์และกฎหมายที่ ไครสต์ เชิช ( Christ Church) มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดระหว่าง พ.ศ 2442 ถึง พ.ศ 2444 ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยจัดถวายแด่พระราชวงศ์อังกฤษ จึงไม่มีการรับปริญญาบัตร พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์วิทยานิพนธ์ทางประวัติศาสตร์เรื่อง The War of the Polish Succession (สงครามสืบราบสมบัติโปแลนด์) ต่อมามีผู้สนใจนำไปแปลเป็นภาษาฝรั่งเศลอีกด้วย
              
            ในด้านกิจกรรม พระองค์ทรงก่อตั้งสโมสรคอนโมโปลิตัน (Cosmoplitan Society) เพื่อเป็นแหล่งชุมนุมนิสิต มีการบันเทิง การแลกเปลี่ยนกันอ่านคำตอบวิชาที่ศึกษาอยู่ นอกจากนี้ยังทรงเป็นสมาชิกสโมสรบุลลิงตัน( Bullington Club) สโมสรคาร์ดินัล (Cardinal Club) และสโมสรการขี่ม้าด้วย ในด้านภาษาศาสตร์ทรงเป็นนักปราชญ์องค์หนึ่ง ที่มีพระปรีชาสามารถและมีความเชี่ยวชาญเป็นเลิศ จะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงออกหนังสือรายสัปดาห์เป็นภาษาต่างประเทศ ซึ่งออกในประเทศอังกฤษ ชื่อว่าสกรีชโอว์ ซึ่งเป็นหนังสือสำหรับเด็กที่ได้รับการยอมรับและมีความเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นหนังสือที่อ่านสนุกและมีคนติดใจกันมากมาย ต่อมาทรงออกหนังสือ เดอะลุคเกอร์ออนอีกฉบับหนึ่งด้วย


ผู้แทนพระองค์สมเด็จพระชนกนาถ

      เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสประเทศทางยุโรปครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2440 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ก็เสด็จจากลอนดอนไปเฝ้ารับเสด็จฯ ที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี หลักจากนั้นยังทรงรับมอบพระราชภาระเป็นผู้แทนพระองค์สมเด็จพระบรมราชนกนาถเสด็จไปร่วมงานพระราชพิธีฉัตรมงคลสมโภชในโอกาสที่สมเด็จพระราชินีวิคตอเรียเสวยราชสมบัติครบ 60 ปี ในปีพุทธศักราช 2440 นอกจากนี้ยังเสด็จไปงานพระราชพิธีบรรจุพระศพพระราชินีลุยซ่าแห่งเดนมาร์ก ในปีพุทธศักราช 2441 พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าอัลฟองโซที่ 13 แห่งสเปน และพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งอังกฤษ และพระราชพิธีบรรจุพระศพสมเด็จพระราชินีวิคตอเรีย แห่งอังกฤษในปีพุทธศักราช 2445


การเสด็จเยือนประเทศต่างๆและนิวัติกรุงเทพ

      นระหว่างปิดภาคเรียนขณะทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ พระองค์ทรงศึกษาภาษาฝรั่งเศส และเสด็จทอดพระเนตรกิจการทหารของประเทศในภาคพื้นยุโรปเป็นเนืองนิจ ในปีพุทธศักราช 2445 ขณะทรงพระชนมายุ 22 พรรษา หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดแล้ว พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปจนถึงประเทศอียิปต์ เพื่อเป็นการเจริญสัมพันธไมตรี จากนั้นประทับอยู่ในกรุงลอนดอนระยะหนึ่งเพื่อเตรียมพระองค์นิวัตประเทศไทย รวมเวลาที่ทรงศึกษาในประเทศอังกฤษทั้งสิ้น 9 ปี
        ครั้นในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัตประเทศไทยทางเรือ ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก สู่สหรัฐอเมริกา และเสด็จประพาสตามหัวเมืองต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา เพื่อทอดพระเนตรการปกครองและการบริหารบ้านเมืองของสหรัฐอเมริกา เป็นเวลาเดือนเศษ ในราวต้นเดือนธันวาคม พุทธศักราช 2445 เสด็จออกจากประเทศสหรัฐอเมริกาโดยทางเรือ ถึงเมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น แล้วประทับ ณ ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลาเดือนเศษ จากนั้นเสด็จไปประทับ ณ เกาะฮ่องกง แล้วจึงเสด็จถึงประเทศไทย ในวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ2446 โดยประทับ ณ พระราชวังสราญรมย์ และทรงเข้ารับราชการทหารทันที ต่อมาทรงได้รับพระราชทานพระยศนายพลเอกราชองครักษ์พิเศษและจเรทัพบก กับทรงเป็นนายพันโทผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ นอกจากนั้นทรงช่วยเหลือกิจการของสภาที่ปรึกษาส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ




ทรงผนวช

     พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาอย่างมาก และเป็นไปตามโบราณราชประเพณี หลังจากทรงรับราชการทหารได้ระยะหนึ่ง จึงเสด็จออกผนวก ในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ 2447 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ประทับจำพรรษาที่พระตำหนักปั้นหยาวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา 1 พรรษา ทรงได้รับสมณฉายาว่า “วชิราวุโธ”
     ตลอดระยะเวลาที่ผนวชนั้น พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้าหลักธรรมวินัยในพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ จากนั้นทรงลาสิกขา ทรงเป็นองค์อุปถัมภกของสยามสมาคมและทรงดำรงตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณสำนักพระนคร ระหว่างปีพุทธศักราช 2448 ถึงพุทธศักราช 2453




ตามเสด็จพระชนกนาถ

       หลังจากทรงลาสิกขาแล้ว ในปีพุทธศักราช 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ เสด็จประพาสภายในประเทศ โปรดให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตามเสด็จด้วยทุกคราว ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้ทรงคุ้นเคยกับสภาพบ้านเมือง ข้าราชการ และพสกนิกรของประเทศซึ่งอยู่ในชนบทที่ห่างไกลเมืองหลวง นอกจากยังเสด็จโดยลำพังพระองค์เอง เช่น เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือครั้งแรกเมื่อพุทธศักราช 2448 และครั้งที่ 2 เมื่อพุทธศักราช 2450 (หัวเมืองฝ่ายเหนือ : กำแพงเพชร สุโขทัย สวรรคโลก อุตรดิตถ์ พิษณุโลก) เป็นผลให้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง” และ “ลิลิตพายัพ” ทรงใช้พระนามแฝงว่า “หนานแก้วเมืองบูรพ์”
        มาเสด็จไปหัวเมืองปักษ์ใต้ใน พ.ศ. 2452 และทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง “จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้” ทรงใช้พระนามแฝงว่า “นายแก้ว” นอกจากนี้ได้ทรงมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายหลายฉบับ และก่อนหน้าที่จะทรงขึ้นครองราชย์เพียง 2 – 3 เดือน ทรงได้รับมอบหมายให้ทรงกำกับราชการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีเสนาบดี จึงนับว่าทรงมีพื้นฐานเกี่ยวกับการบริหารของประเทศชาติ






เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ

       เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ในวันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 เวลา 24.45 น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามกุฎราชกุมารได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบแทนเมื่อเวลา 0.45 น. ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจัดเป็น 2 งานคือ งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมนเทียรเมื่อวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 และงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 ในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระชนมมายุ 30 พรรษา ทรงมีพระราชปณิธานในการปกครองพสกนิกรและแผ่นดินโดยธรรม ดังความในพระราชหัตถเลขาบางตอน ถึงพระสหาย นายเฟรเดอริค เวอร์นี่ย์ ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 ความว่า"… พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่สวรรคตแล้วแต่ฉันรู้สึกประชาชนผู้จงรักภักดีจะระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณต่อไป และคงจะให้ความรักและภักดีต่อฉันผู้สืบราชสมบัติต่อจากพระองค์บ้างการที่จะปฏิบัติตามรอยพระยุคลบาทนั้นคงจะยาก แต่ฉันก็จะพยายามอย่างมากที่สุดจะทำงานเพื่อประชาชนซึ่งบัดนี้เป็นหน้าที่ของฉันแล้ว ตำแหน่งของฉันเป็นถึงพระเจ้าแผ่นดินแต่เชื่อว่าในไม่ช้าประชาชนก็คงจะรู้สึกว่าฉันเป็นมิตรที่ซื่อสัตย์ และเต็มใจรับใช้พวกเขาทั้งหลาย เพื่อความสุขและเจริญของเขา…..ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฎ ว่า
      ระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษพบรมนราธิราชพินิประชานารถมหาสมมตวงษ์ อดิศัยพงศวิมลรัตนวรขัตติยราชนิกโรดม จตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทรเคราะหณี จักรีบรมนารถ จุฬาลงกรณราชวรางกูร บรมมกุฎเรนทร์สูร สันตติวงษ์วิสิฐ สุสาธิตบุรพาธิการ อดุลยกฤษฎาภินิหาร อดิเรกบุญฤทธิ์ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตตะมางคประณตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมาลย์ ทิพยเทนาวตาร ไพศาลเกียรติคุณ อดุลยพิเศษสรรพเทเวศรานุรักษ์ บุริมศักดิสมญาเทพทวาราวดี ศรีมหาบุรุษสุตสมบัติ เสนางคนิกรรัตนอัศวโกศล ประพนธปรีชา มัทวสมาจาร บริบูรณ์ คุณสารสยามมาทินคร วรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษศิรินธร บรมชนกาดิศรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดม บรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกาภิษิต สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวไศรย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิอรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัยอโนปไมยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิเบนทร์ ปรเมนทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อมาภายหลังเปลี่ยนจาก “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ” เป็น “พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ”
       ในวันที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบพระนครทางสถลมารค และในวันที่ 4 ธันวาคม พุทธศักราช 2454 เสด็จเลียบพระนครทางชลมารค ซึ่งเป็นงานใหญ่ มีขบวนเรือประกอบด้วยเรือกว่า 30 ลำ ทรงพระชฎามหากฐินร้อยตามราชประเพณี มีเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์เป็นเรือพระที่นั่ง เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชเป็นเรือพระที่นั่งรอง เสด็จพระราชดำเนินจาก ท่านราชวรดิษฐ์ ไปวัดอรุณราชวราราม เพื่อถวายผ้าทรงสะพักแด่พุทธปฏิมากร พร้อมด้วยปัจจัยถวายสำหรับบูรณะพระอารามด้วย ทรงใช้เรือพระที่นั่งศรีประภัศรไชย ซึ่งมีบุษบกอยู่กลางลำ เป็นที่ประดิษฐานสิ่งที่จะนำไปถวาย ขากลับทรงใช้เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชเป็นเรือพระที่นั่ง






มเหสีและพระราชธิดา

      เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุ 40 พรรษา ทรงประกาศพระราชพิธีหมั้นกับหม่อมเจ้าหญิงวรรณวิมล วรวรรณ
(หม่อมเจ้าหญิงวัลลภาเทวี) พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ พร้อมทั้งทรงประกาศสถาปนาขึ้นเป็นพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2463 จัดให้มีขึ้น ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน หลังจากนั้น 4 เดือน ทรงประกาศยกเลิกการพระราชพิธีหมั้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พุทธศักราช 2463 ด้วยเหตุที่พระราชอัธยาศัยมิได้ต้องกัน
       ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีความรักกับ หม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมล วรวรรณ (หม่อมเจ้าหญิงลักษมีลาวัณ) พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ จึงโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ เมื่อวันที่ 8 กันยายน พุทธศักราช 2464 และทรงมีพระราชประสงค์จะมีพิธีราชาภิเษกสมรสด้วย ต่อมาในปีพุทธศักราช 2465 ขณะที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ มีพระชันษา 23 ปี ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น พระนางเธอลักษมีลาวัณ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม แต่ภายหลังต่อมาพระนางเธอลักษมีลาวัณ มิสามารถมีพระราชโอรส หรือพระราชธิดาได้ จึงทรงแยกอยู่ตามลำพังไปประทับ ณ ตำหนักลักษมีวิลาส และดำรงพระชนมชีพอย่างสงบ สันโดษ
        เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พุทธศักราช 2464 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรส กับคุณเปรื่อง สุจริตกุล ธิดาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) กับท่านผู้หญิงสุธรรมมนตรี (กิมไล้) และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นเป็น พระสุจริตสุดา พระสนมเอก ต่อมาในวันที่ 12 มกราคม พุทธศักราช 2464 ทรงประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับ คุณประไพ สุจริตกุล ผู้น้อง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นเป็น พระอินทราณี ต่อมาทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี ในวันที่ 10 มิถุนายน พุทธศักราช 2465 และทรงสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ในวันที่ 1 มกราคม 
พุทธศักราช 2465 (พุทธศักราช 2466 ตามปฏิทินในปัจจุบัน) แต่ด้วยเหตุผลตามประกาศพระบรม
ราชโองการ ลงวันที่ 14 กันยายน พุทธศักราช 2468 ที่มิสามารถถวายรับราชการฉลองพระเองพระคุณได้ในหน้าที่ที่ควรของตำแหน่งสมเด็จพระบรมราชินี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนพระอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา และเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา เสด็จไปประทับ ณ วังคลองภาษีเจริญ ฝั่งธนบุรี จนตลอดพระชนมชีพ
     ในปีพุทธศักราช 2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับคุณเครือแก้ว อภัยวงศ์ (สุวัทนา) ธิดาของพระยาอภัยภูเบศร์ (เสื่อม อภัยวงศ์) เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าจอมสุวัทนาขึ้นเป็น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พุทธศักราช 2468 พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงมีพระประสูติกาลเป็นพระราชธิดา ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2468 ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จสู่สวรรคาลัยเพียงวันเดียว โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชาสุดาสิริโสภาพัณณวดี


พระราชานุกิจ 

     พระราชานุกิจ คือ กำหนดเวลาที่พระเจ้าแผ่นดินจะทรงประพฤติพระราชกิจต่างๆ ประจำทุกวัน เรียบเรียงโดยพระยาอนิรุทเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) จางวางมหาดเล็ก ดังนี้
     11.00 น. ถึง 11.30 น. บรรทมตื่น เสวยเครื่องเช้า ที่เฉลียงข้างห้องพระบรรทม ทรงเครื่องแล้วเสด็จเข้าห้องพระอักษรราชาเลขาธิการเข้าเฝ้าถวายหนังสือราชการทรงงานแผ่นดินอยู่จนถึงเวลาเสวยเครื่องใหญ่กลางวัน     
     13.00 น. ถึง 13.30 น. เสวยกลางวันอย่างไทย ด้วยประทับพระยี่ภู่ เสวยด้วยพระหัตถ์ในชามหยก วางบนโต๊ะเล็ก เสวยเสร็จราว 15.00 น. บางวันเสนาบดี กระทรวงวัง เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลเรียนพระราชปฏิบัติในเรื่องพระราชพิธีต่างๆ ในตอนเสวยแล้ว แล้วเสด็จเข้าประทับในห้องทรงพระอักษรจนถึงเวลาเย็น ราว 
     17.00 น. เสด็จลงทรงการเล่นต่างๆ มีเทนนิส ราวเดอร์หรือแบดมินตัน เสร็จออกพระกำลังกายแล้วเสวยเครื่องว่าง และเสด็จขึ้นราวเวลาย่ำค่ำครึ่ง ถ้ามีการพระราชพิธีหรืองานพิเศษก็ไม่ได้เสด็จลงสนาม
     เสด็จออกขุนนางทุกวัน เวลาบ่าย 17.00 น วันจันทร์เสด็จไปเฝ้าสมเด็จพระพันปีหลวงที่พระราชวังพญาไท ในเวลายังดำรงพระชนม์อยู่ ต่อมาอีกวันจันทร์ เสด็จทรงรถประพาสตามถนน โปรดให้ขับรถยนต์พระที่นั่งช้าๆ ด้วยมีพระราชดำรัสว่าให้ราษฎรได้เฝ้า สับเปลี่ยนกันเช่นนี้ทุกวันจันทร์
     ทุกวันศุกร์ เวลา 17.00 น เสด็จออกขุนนาง แล้วมีประชุมเสนาบดี ถ้ามีราชการพิเศษก็เรียกประชุมเป็นพิเศษ บางคราวก็โปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดี เข้าเฝ้าพิเศษ
     ย่ำค่ำครึ่ง สรงน้ำทรงเครื่อง เสด็จเข้าห้องทรงพระอักษรจนถึงเวลาเสวยเย็น
     20.30 น. เสด็จลงประทับโต๊ะเย็น พร้อมด้วยข้าราชบริพาร มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งในราชสำนัก และนอกราชสำนักบางคนเสวยแล้ว บางวันทรงบิลเลียดหรือไพ่บริดส์ บางวันมีซ้อมละคร
     24.00 น. เสวยเครื่องว่าง เสด็จขึ้นราว 01.00 น. บางคืนก็ดึกกว่านี้ ทรงบูชาพระรัตนตรัยและเทพเจ้า  เสด็จเข้าที่พระบรรทม


พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 6

      พระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ พระวชิระ ซึ่งมาจากพระบรมนามาภิไธยก่อนทรงราชย์ นั่นคือ "มหาวชิราวุธ" ซึ่งหมายถึง สายฟ้าอันเป็นศาตราวุธของพระอินทร์ พระราชลัญจกรพระวชิระนั้น เป็นตรางา รูปรี กว้าง 5.5 ซ.ม. ยาว 6.8 ซ.ม. มีรูปวชิราวุธเปล่งรัศมีที่ยอด ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า 2 ชั้น มีฉัตรบริวารตั้งขนาบทั้ง 2 ข้าง


<< ชมวิดีโอพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจที่สมบูรณ์ที่สุดได้จากเมนูด้านซ้ายบนครับ


ที่มา
 http://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
http://www.phyathaipalace.org/main/index.php/2009-02-16-02-45-22/2009-02-19-05-56-10

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น